เรามาทำความคุ้นเคยประเทศจีนกันเถอะ


Zhonghua Renmin Gongheguo คือ ชื่อเป็นทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีน คนทั่วไปมักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า "จงกั๋ว" ซึ่งแปลว่า "อาณาจักรกลาง"

ที่ตั้ง จีนตั้งอยู่บนทวีปเอเชียตะวันออก มีพรมแดนติดต่อกับประเทศต่างๆ โดยรอบ 15 ประเทศ คือ เกาหลีเหนือ รัสเซีย มองโกเลีย คาซัคสถาน เคอร์กิชสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย เนปาล สิกขิม ภูฐาน พม่า ลาว และเวียดนาม ขณะที่ทิศตะวันออกและทิศใต้จดทะเลเหลือง ทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้

พื้นที่ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกรองจากประเทศ รัสเซีย และแคนาดา พรมแดนทางบกของจีนมีความยาว 28,000 กิโลเมตร และมีชายฝั่งทะเลยาว 18,000 กิโลเมตร เกาะที่ใหญ่ที่สุด ในบรรดาเกาะน้อยใหญ่ทั้งหมด 6,536 เกาะ คือเกาะไต้หวันและไห่หนาน เมืองหลวงคือ ปักกิ่ง

เมืองหลวง กรุงปักกิ่งหรือเป่ยจิง (ภาษาราชการจีนเรียกว่า “เป่ยจิง” - Beijing ) มีประชากร ประมาณ 30 ล้านคน


หอบูชาฟ้า ในวัดแห่งสวรรค์ในกรุงเป่ยจิง ( ปักกิ่ง ) เป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นศูนย์กลางของจีนในพิภพนี้


ประชากร ประมาณ 1,300 ล้านคน มีประชากรมาก เป็นอันดับหนึ่งของโลก 93% เป็นชาวฮั่น ส่วนที่เหลือ 7% เป็นชนกลุ่มน้อย ได้แก่ ชนเผ่าจ้วง หุย อุยกูร์ หยี ทิเบต แม้ว แมนจู มองโกล ไตหรือไท เกาซัน รัฐบาลจีนมีนโยบายเพื่อควบคุมจำนวนประชากรชาวฮั่น ซึ่งครอบครัวหนึ่ง ควรมีบุตรเพียงหนึ่งคนเท่านั้น นโยบายนี้ไม่ได้บังคับใช้ในชนกลุ่มน้อย

วัฒนธรรมจีน การเรียกชื่อสกุลของชาวจีนตรงกันข้ามกับภาษาไทย คือเรียกต้นด้วยชื่อสกุล ชื่อตัวใช้เรียกกันในหมู่ญาติ และเพื่อนสนิท โดยปกติชาวจีนมักไม่ทักทาย ด้วยการจับมือหรือจูบเพื่อร่ำลา

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ชาวจีนมีเครือข่ายคนรู้จัก ( เหมือนกับการมีเส้นสายในไทย ) กล่าวกันว่าชาวจีนที่ไร้เครือข่ายคนรู้จัก เป็นผู้ที่เป็นจีนเพียงครึ่งเดียว จึงจำเป็นต้องทำความรู้จักกับผู้คนชาวต่างชาติ ซึ่งทำธุรกิจในประเทศจีน ดังนั้นควรให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมนี้ด้วยการเชื้อเชิญ

ภาษา แมนดารินเป็นภาษาราชการ และมีภาษาท้องถิ่นอีกจำนวนมาก เช่น ภาษากวางตุ้ง แต้จิ๋ว เซี่ยงไฮ้ แคะ ฮกเกี้ยน เสฉวน หูหนาน ไหหลำ เป็นต้น ส่วนใหญ่ใช้อักษรจีนแบบย่อ (Simplified Chinese) มีอักษรทั้งหมด 56,000 ตัว ใช้ประจำ 6,763 ตัว ถ้ารู้เพียง 3,000 ตัว ก็อ่านหนังสือพิมพ์และทั่วไปได้

ภูมิอากาศ พื้นที่ภาคเหนือมี 4 ฤดู แห้งและหนาวเย็นในหน้าหนาว ร้อนอบอ้าวในหน้าร้อน ตอนใต้มีอากาศแบบร้อนชื้น ซึ่งอากาศจะแตกต่างกันตามภูมิประเทศ

ภูมิประเทศ ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของจีนอยู่ในเขตอบอุ่น ซึ่งมีฤดูกาลที่แตกต่างกันไป ทางตะวันตกส่วนใหญ่เป็นเทือกเขา ทะเลทราย และที่ราบสูง และค่อยๆ ลาดลงทางทิศตะวันออก

ธงชาติ รูปดาวสีเหลือง 5 ดวงบนพื้นสีแดง (ดาวดวงใหญ่หมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นผู้นำ ดาวเล็กๆ ทั้งสี่ดวงหมายถึง “ชนชั้น” ที่ประกอบขึ้นเป็นสังคมจีน คือ ชนชั้นกรรมกร ชนชั้นชาวนา ชนชั้นนายทุนน้อย และชนชั้นนายทุนแห่งชาติ)

เขตการปกครอง การปกครองส่วนกลางแบ่งออกเป็น 23 มณฑล (รวมถึงไต้หวัน) , 5 เขตปกครองตนเอง (มองโกเลีย หนิงเซี่ย ซินเจียง กวางสี และทิเบต) , 4 มหานครที่ขึ้นต่อส่วนกลาง (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน และฉงชิ่ง และ 2 เขตบริหารพิเศษ (ฮ่องกง และมาเก๊า)


ศาสนาและความเชื่อ

ในสมัยโบราณ จีนนับเป็นดินแดนที่มีศาสนาและปรัชญารุ่งเรืองเฟื่องฟูอยู่มากมาย โดยลัทธิความเชื่อเดิม นั้นมีอยู่สองอย่างคือ ลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื๊อ ซึ่งเน้นหลักจริยธรรมมากกว่าที่ จะเป็น หลักศาสนาที่แท้จริง ส่วนพุทธศาสนานั้น จีนเพิ่งรับมาจากอินเดียในช่วงคริสต์ศตวรรษแรกนี้เท่านั้น ครั้นมาถึงยุคคอมมิวนิสต์ ศาสนากลับถูกว่าเป็นปฎิปักษ์ต่อลัทธิทางการเมืองโดยตรง แต่ในช่วงหลังๆ นี้ทางการก็ได้ยอมผ่อนปรนให้ กับการนับถือศาสนาและความเชื่อต่างๆ ของประชาชนมากขึ้นอีกครั้ง ลักธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ( ในเขตตะวันตกของจีน ) และศาสนาคริสต์จึงได้กลับมาเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้ชาวจีน ยังเชื่อถือในเรื่องตัวเลขนำโชคหมอดู และการพยากรณ์กันมาตั้งแต่ครั้งโบร่ำโบราณ เฟินสุ่ยและตัวเลขนำโชค

แนวคิดเรื่องพรหมลิขิตของจีนเริ่มมีขึ้นในยุคสังคมศักดินาที่ผู้คนเชื่อกันว่า " เทพเจ้า " ( จักรพรรดิ ) สามารถตัดสินชะตาของคนได้ แต่เมื่อเกิดกบฏโค่นล้มราชวงค์ลงได้สำเร็จ ความเชื่อที่ว่าจักรพรรดิ เป็นผู้ไร้เทียมทานก็พลอยดับสูญไปด้วย ประชาชนได้หันมาบูชาม้าและวัว จนนำไปสู่การสังเกตุเห็นว่า เป็นรูปร่าง ขน และสีผิวที่ต่างกันย่อมส่งผลให้สัตว์แต่ละประเภทมีความสามารถ อารมณ์ อายุที่ยืนยาวแตกต่างกันไป สุดท้ายจึงหันมาสังเกตุดูลักษณะของคนด้วยกันเองบ้าง

เฟิงสุ่ย ( ฮวงจุ้ย/น้ำและลม ) เป็นศาสตร์แห่งการพยากรณ์ที่มีมาแต่โบราณ ใช้ดึงดูดโชคลาภและปัดเป่า เคราะห์ร้ายนานา ผู้เชื่อถือศาสตร์นี้จะไปขอคำแนะนำจากอาจารย์ดูเฟินสุ่ยทุกเรื่อง ทั้งการออกแบบ หาฤกษ์ยาม การตกแต่งบ้านหรือสำนักงาน เป็นต้น

อาจารย์ดูเฟินสุ่ยส่วนใหญ่จะเชื่ยวชาญการดูโหงวเฮ้ง ดูลายมือ ดูดวงจากวันเดือนปีเกิด และเวลาตกฟากด้วย นักปรัชญจีนในสมัยราชวงค์ฮั่น ได้คิดค้นระบบ 12 นักษัตร อันประกอบด้วย ปีชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุนขึ้น โดยแบ่งคนออกเป็น 12 กลุ่มตามปีเกิด และนำเอาหลักปรัชญากับตัวเลขมาคิดคำนวณเพื่อพยากรณ์โชคเคราะห์ และอนาคตของบุคคล เช่น เลขสองหมายถึงความสบาย เลขสามคือชีวิตหรือการให้กำเนิดบุตร เลขหกคือการมีอายุยืน เลขแปดคือความมั่งคั่งร่ำรวย เลขเก้าคือความเป็นนิรันดร์ เมื่อนำตัวเลขมารวมกันก็จะได้ความหมายที่แตกต่างกันออกไป เช่น 163 หมายถึง "การมีอายุยืนยาว" หรือ "การมีลูกดก" เป็นต้น


เงินตรา

สกุลเงินของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนคือเงินเหยินหมินปี้ ( Renminbi แปลตามตัวว่าเงินของประชาชน ) มักใช้ตัวย่อ RMB หน่วยเงินของจีนเรียกว่าหยวน ( yuan ) หนึ่งหยวนมีสิบเจี่ยว ( jiao ) หนึ่งเจี่ยวมีสิบเฟิน ( fen ) 100 เฟินเท่ากับหนึ่งหยวน ธนบัตรแบ่งออกเป็นใบละ 1 หยวน , 5 เจี่ยว , 1,2 และ 5 เฟิน

เฟินเป็นหน่วยเล็กสุด < เจี่ยวหรือเหมาเป็นหลักสิบ < จากนั้นเป็นหยวน


วันหยุดนักขัตฤกษ์

งานเทศกาลพื้นบ้านของจีน เช่น เทศกาลตรุษจีนจะถือเอาวันตามปฏิทินทางจันทรคติเป็นหลัก ดังนั้นวันที่มีการจัดงานเทศกาลดังกล่าวขึ้นจึงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่เคยตรงกันเลยในแต่ละปี ส่วนวันหยุดราชการนั้นจะถือเอาวันตามปฏิทินของทางตะวันตกเป็นหลัก

1 มกราคม : วันขึ้นปีใหม่

กุมภาพันธ์ : วันตรุษจีน ( กำหนดวันในแต่ละปีไม่ตรงกัน )

8 มีนาคม : วันสตรีสากล

1 พฤษภาคม : วันแรงงานสากล

4 พฤษภาคม : วันเยาวชน

1 มิถุนายน : วันเด็ก

1 กรกฎาคม : วันก่อตั้งพรรคคอมมินิสต์

1 สิงหาคม : วันก่อตั้งกองทัพปลดปล่อยประชาชน

1 ตุลาคม : วันชาติ (สาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ภายหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ จีนมีชัยชนะในสงครามกลางเมืองเหนือพรรคก๊กหมินตั๋ง)


ศิลปะและงานหัตถกรรม

ประวัติศาสตร์อันยาวนานและความภูมิใจในอารยธรรมของตน ส่งผลให้จีนพัฒนา และสร้างงานศิลปะหัตถกรรมที่งดงาม อันทรงคุณค่ายิ่ง


ภาพเขียน

ศิลปะการวาดภาพของจีนมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับศิลปะการเขียนอักษร ในสมัยโบราณจิตรกรจะต้องฝึกฝนศิลปะการเขียนอักษรอย่างจริงจัง ส่วนนักเขียนอักษรก็มักมีประสบการณ์ในการวาดภาพ ศิลปะทั้งสองแขนงจะต้องเคียงกันในงานแต่ละชิ้น

ชาวจีนถือว่าอักษรเป็นเครื่องมือในการสืบทอดวัฒนธรรม และความสมารถในเขิงอักษรศาสตร์ยังช่วยส่งบุคคลให้ ก้าวสู่สถานภาพทางสังคมที่สูงยิ่งขึ้น แม้จะมีภาษาถิ่นที่หลากหลาย แต่ภาษาเขียนกลับมีเพียงหนึ่งเดียว ภาษาเขียนซึ่งมีเอกภาพและเป็นเครื่องมือสืบทอดประวัติศาสตร์นี้ จึงมีความสำคัญกว่าภาษาพูด


เครื่องกระเบื้องเคลือบ

ชาวจีนคิดประดิษฐ์เครื่องเคลือบขึ้นในราวศตวรรษที่ 7 แต่เครื่องเซรามิกนั้นมีมาตั้งแต่ยุคหินใหม่แล้ว โดยกลุ่มแม่น้ำหวงเหอและฉางเจียงนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของภาชนะดินเผาลายหวี-ลายเชือก สีแดงและสีดำมีอายุราว 7,000 - 8,000 ปี ส่วนแหล่งอารยธรรมหยางเส้ากับหลงซาน ( 5,000 - 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ) ก็ได้พัฒนารูปแบบภาชนะดินเผาขึ้นจนมีความหลากหลายโดยใช้สีแดง ดำ และน้ำตาลเป็นหลัก และยังมีการคิดประดิษฐ์ภาชนะดินเผาลายหน้ากากมนุษย์และปลาที่มีผิวบาง แข็งแกร่งเคลือบด้วยดินเหนียวสีขาว และทรายชั้นดี ต่อมาในยุคราชวงศ์ฮั่นได้มีการทำเครื่องเคลือบสีเทาอ่อน ผิวเหลือบเขียวเป็นมันวาวขึ้นที่เมืองเยว่โจว

ถึงยุคราชวงศ์ถังมีชื่อเสียงลือไปไกลถึงยุโรปและตะวันออกกลาง ยุคราชวงศ์ยวน ได้มีการนำเทคนิคจากตะวันออกใกล้มาใช้เขียนลวดลายใต้ผิวเคลือบให้เป็นสีน้ำเงินสด เป็นที่รู้จักในนามเครื่องเคลือบราชวงศ์หมิง ครั้นถึงยุคต้นราชวงศ์ชิง เครื่องเคลือบสีฟ้า - ขาวก็ได้รับการพัฒนาคุณภาพขึ้นจนบรรลุถึงขั้นสูงสุด


เครื่องหยก

หยกจัดเป็นอัญมณีมีค่าของจีน และเป็นหนึ่งในงานฝีมือที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจนถึงขั้นสุดยอดมาแต่ครั้งโบราณ

มีตำนานเล่าว่าเมื่อผานกู่สิ้นชีพ ลมหายใจของท่านได้กลายเป็นสายลมกับหมู่เมฆ เนื้อหนังกลายเป็นดิน ไขกระดูกกายเป็นหยกและไข่มุก ชาวจีนจึงเชื่อว่าหยกมีทั้งความงามและอำนาจวิเศษ คนโบราณเคยใช้หยกประกอบพิธีศาสนา ก่อนนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ เครื่องหยกที่เก่าแก่ที่สุดนั้นขุดพบในชุมชนยุคหินใหม่เมื่อ 7,000 ปีก่อนที่เหอหม่าตู ความเชื่อที่ว่าหยกมีอำนาจปกปักรักษา ทำให้มีการนำหยกไปทำเป็นชุดให้กับคนตาย หยกประกอบด้วยธาตุเจไดต์และเนไฟรต์ เจไดต์นั้นมีค่ามากกว่าเพราะหายาก เนื้อแกร่ง สีใสกึ่งโปร่งแสง ในขณะที่เนไฟรต์จะมีเนื้ออ่อนกว่า สีของหยกมีหลากหลายตั้งแต่ขาวไปจนถึงเขียว ดำ น้ำตาล และแดง ชาวจีนถือว่าหยกสีเขียวมรกตเป็นหยกที่มีค่ามากที่สุด แหล่งผลิตเครื่องหยกของจีนในปัจจุบันตั้งอยู่ที่เมืองชิงเทียน (มณฑลเจ๋อเจียง) โซ่วซาน (มณฑลฝูเจี้ยน)และลั่วหยาง (มณฑลเหอหนาน)


อาหารจีน

หากจะเลือกอาหารของชาติใดขึ้นมาเป็นอาหารสากลสักชาติหนึ่ง ก็ไม่ควรมองข้ามอาหารจีน เพราะมีที่ใดในโลกบ้างที่คุณหาซื้ออาหารจีนกินไม่ได้ ?

จีนเป็นชนชาติที่ผูกพันแนบแน่นอยู่กับอาหารการกิน ปัญหาทุพภิกขภัยในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมาได้บีบบังคับให้ชาวจีนต้องคิดหาวิธีใช้ และถนอมอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ชนชั้นสูงยังใช้อาหารเพื่อเครื่องแสดงออกซึ่งความมั่งคั่ง และสถานภาพอันสูงส่งของตนอีกด้วย เนื่องจากจีนมีภูมิประเทศอันหลากหลาย จีนอุดมสมบูรณ์ด้วยเครื่องเทศและพืชผักนานาพันธุ์

ความใส่ใจในเรื่องอาหารของชาวจีนสะท้อนออกมาทางปรัชญา และวรรณคดี โดยนักปราชญ์ผู้สร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้ มักเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาหารด้วย เหลาจื่อสอนว่า “จงรับมือกับประเทศใหญ่ๆ ด้วยความอ่อนโยนนุ่มนวลเสมือนหนึ่งท่านกำลังทำปลาตัวเล็ก ๆ”

จวงจื่อเคยแต่งโคลงแนะนำการคัดสรรพ่อครัวให้กับจักรพรรดิ ความว่า “พ่อครัวชั้นดีจะเปลี่ยนมีดใหม่เพียงปีละครั้งเพราะเขาหั่น พ่อครัวชั้นเลวจะเปลี่ยนมีดใหม่ทุกเดือนเพราะเขาสับ” ทัศนคติเช่นนี้เองที่ส่งเสริมให้อาหารจีนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในอาหารที่ดีสุดในโลก

อุปกรณ์สำคัญในการทำครัวของชาวจีนมีอยู่สี่อย่าง คือ เขียง มีด กระทะก้นกลม และตะหลิว

ชาวจีนประกอบอาหารด้วยการผัดในกระทะไฟแรงเป็นหลัก เพราะเป็นวิธีที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงและทำให้อาหารคงคุณค่าความสดกรอบเอาไว้ได้ การทอด นึ่งและเคี่ยวก็เป็นวิธีที่นิยมทำกันมาก ในขณะที่การย่างและอบนั้นจะทำกันแต่ในครัวของภัตตาคารเท่านั้น อาหารจีนจะต้องถึงพร้อมทั้งสีสัน รสชาติ และหน้าตา มีอาหารอยู่เพียงไม่กี่อย่างเท่านั้นที่ปรุงอย่างเดียวเดี่ยวๆ โดดๆ สิ่งสำคัญคือส่วนประกอบต่างๆ จะต้องกลมกลืนเข้ากันได้กับเครื่องปรุงรสจำพวกซีอิ้ว กระเทียม ขิง น้ำส้ม น้ำมันงา แป้งถั่วเหลือง และหอมแดง


ข้อมูล ความรู้ ที่น่าสนใจต่าง ๆ

มหาวิทยาลัยในเมืองต่างๆ ประเทศจีน

HSK test แบบใหม่

Wushu อู่ซู่ , kungfu กังฟู

Taijiquan ไท่จี๋เฉวี๋ยน (มวยไท่เก็ก)

กู้กง - นครต้องห้าม

พระราชวังฤดูร้อน "อี้เหอหยวน" ( วังฤดูร้อน )

หอฟ้าเทียนถาน ( Temple of heaven )

สุสาน 13 กษัตริย์ หรือวังใต้ดิน ( สือซานหลิง )

อูเจิ้น (เมืองโบราณ)

อุทยานสวนโบราณซูโจว เมืองซูโจว

ลำดับราชวงศ์ที่ปกครองแผ่นดินจีน

หน่วยงานราชการไทยที่สำคัญในประเทศจีน

ศิลปะกระดาษตัด ของจีน

ฮก ลก ซิ่ว อุดมคติแห่งความสุขในชีวิตชาวจีน

เทศกาลตรุษจีน

เทศกาลโคมไฟ (หยวนเซียว)