สวนโบราณเมืองซูโจว

เมืองแห่งสวนคลาสสิค


สวนคลาสสิคเมืองซูโจวมีประวัติศาสตร์มานาน 2,000 กว่าปี นับตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 6 ในยุคชุนชิวชาวเมืองซูโจวได้รู้จักการสร้างและจัดสวนมาเนิ่นนานแล้ว มาในสมัยราชวงศ์หมิงแฟชั่นสร้างสวนของซูโจวยิ่งเป็นที่นิยมไปทั่ว ส่งผลให้ปลายสมัยราชวงศ์ชิงมีสวนทั้งในและนอกเมืองซูโจวรวมอยู่ถึง 170 กว่าสวน

สวนหลากหลายในเมืองซูโจว แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ สวนในที่พักอาศัย สวนในวัด และสวนชานเมือง โดยมีสวนในที่พักอาศัยเป็นพระเอก เพราะมีปริมาณมากที่สุด อีกทั้งมีกลิ่นอายของศิลปะที่ละเมียดละไมโดดเด่น แต่ทั้งหมดล้วนสร้างสีสันและบรรยากาศให้เมืองซูโจว เมืองแห่งแม่น้ำและลำคลอง หรือ ‘ดินแดนเวนิสแห่งตะวันออก’ นี้ ยังเป็นดินแดนแห่งสวนยุคราชวงศ์หมิงและชิง ในคริสต์ศตวรรษที่ 14-20 หรือ ‘เมืองแห่งสวน’


สวนชางลั่งถิงหรือพลับพลาเกลียวคลื่นสีคราม มีหินและเขาเป็นแนวคิดหลักในการจัดสวน


ช่วงสมัยราชวงศ์หมิงและชิง วัฒนธรรมแบบเศรษฐกิจระบบศักดินาในซูโจวเจริญถึงขีดสุด ศิลปะการจัดสวนก็พัฒนาถึงขั้นสุกงอม ก่อเกิดศิลปินด้านการจัดสวนขึ้นมากลุ่มหนึ่ง สร้างสรรค์ผลงานสวนจำลองธรรมชาติออกมาจำนวนมาก ฉุดให้กระแสนิยมการสร้างสวนถาโถมขึ้น กล่าวกันว่าในยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของสวนซูโจว สวนในจวนเจ้านายชั้นสูง ขันทีและมหาเศรษฐีมีอยู่ถึง 280 กว่าแห่ง

ซึ่งปัจจุบันสวนที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ใกล้เคียงยุคสมัยโบราณ และมีชื่อเสียงเลื่องลืออยู่ราว 10 กว่าแห่ง ได้แก่ สวนชางลั่งถิง (พลับพลาเกลียวคลื่นสีคราม -沧浪亭园)สร้างขึ้นในสมัยซ่ง สวนป่าซือจึหลิน หรือสวนป่าสิงโต(狮子林)สวนสมัยราชวงศ์หยวน หรือสวนสมัยหมิงอย่างสวนจัวเจิ้ง(拙政园)และสวนสมัยชิง เช่น สวนหลิว(留园)และสวนอี๋หยวน (สวนสราญรมย์ -怡园)และชื่อเสียงความงามของสวนสี่ยุคนี้เอง ทำให้สวนซูโจวได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก


สุดยอดสวนโบราณซูโจวที่เลื่องชื่อและเป็นมรดกโลก ได้แก่

สวนจัวเจิ้ง เป็นสวนที่สร้างในสมัยราชวงศ์หมิง รัชกาลเจิงเต๋อ ปีที่ 4 ตรงกับค.ศ.1509 มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของสวนโบราณทั้งหมดในเมืองซูโจว ถึง 51,590 ตรม. โดดเด่นในด้านภูมิทัศน์ทางน้ำซึ่งกินพื้นที่ถึง 3 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด โชว์ศิลปะการไหลเวียนตามธรรมชาติ ที่เรียบง่ายแบบคลาสิคสมัยหมิง นอกจากนี้ ยังตบแต่งประดับประดาด้วยโคลงคู่และภาพวาดพู่กันจีน เนื่องจากมีศิลปินกวีแห่งเจียงหนันร่วมในการออกแบบ

สวนหลิว สร้างในสมัยราชวงศ์หมิงเช่นกัน แต่หลังสวนจัวเจิ้ง 80 กว่าปี ในรัชสมัยวั่นลี่ ปีที่ 21 (ค.ศ.1593) มีพื้นที่ 23,310 ตรม. ในอดีตมีชื่อว่า ‘สวนตะวันออก’ เป็นสวนศิลปะเจียงหนันขนานแท้ โดดเด่นด้านการจัดวางและช่องว่าง มีการโชว์ลูกเล่นของลักษณะความแตกต่างทางสถาปัตยกรรรมที่สร้างมุมมองระดับต่างๆได้อย่างงดงามลงตัว ที่มีทั้งโครงสร้างสถาปัตยกรรมแบบยาว-สั้น สูง-ต่ำ ใหญ่-เล็ก หรือที่นำสายตาด้วยเส้นโค้ง-ตรง หรือขยาย-ย่อสัดส่วนพื้นที่ ตลอดจนการเล่นแสงเงา มืด-สว่างตามมุมต่างๆของอาคาร เป็นต้น



สวนหวั่งซือ สร้างในสมัยซ่งใต้ (คศ.1127-1279) บูรณะใหม่ในรัชสมัยเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง(คศ.1736-1796)


สวนหวั่งซือ พื้นที่ 5,400 ตรม. ขนาดเล็กเพียง 1 ใน 6 ของสวนจัวเจิ้ง เป็นสวนในที่พักอาศัยแบบคลาสิคของเจียงหนัน แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ด้านตะวันออกเป็นเรือนพักอาศัย ด้านตะวันตกเป็นสวน ใจกลางมีสระน้ำขนาด 440 ตรม. พร้อมด้วยระเบียงทางเดิน เก๋งจีน ศาลาริมน้ำอยู่ภายในสวน เฟอร์นิเจอร์และโคมไฟที่ประดับภายในอาคาร ก็เป็นศิลปะยุคราชวงศ์หมิง

สวนหวั่งซือสร้างขึ้นราวปีค.ศ.1174 โดยอดีตเสนาบดีปลดเกษียณสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ เริ่มจากความตั้งใจที่สร้าง ‘หอวั่นเจวี้ยนถัง’ (万卷堂) ขึ้นเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงต้อนรับแขก โดยด้านข้างหอมีแปลงปลูกดอกไม้ชื่อ ‘อี๋ว์อิ่น’ (渔隐) แปลงดอกไม้นี้ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สวนหวั่งซือ’ ซึ่งมาจากชื่อซอยที่มีเสียงใกล้เคียงว่า ‘หวังซือ’ (王思) ในสมัยราชวงศ์ชิง ได้กลายมาเป็นที่แปรพระราชฐาน เพื่อการพักผ่อนตากอากาศ และใช้เวลาส่วนพระองค์ของจักรพรรดิคังซี

สวนชางลั่งถิง หรือสวนพลับพลาเกลียวคลื่น เป็นสวนเก่าแก่ที่สุดในจำนวนสวนโบราณซูโจวทั้งหมด ชื่อของ 'ชางลั่งถิง' หรือพลับพลาเกลียวคลื่น ปรากฏขึ้นครั้งแรกในศิลาจารึกแผนที่เมืองผิงเจียง(ซูโจว ค.ศ.1229) สมัยราชวงศ์ซ่ง และยังมีบันทึกการเอ่ยชื่อ ‘พลับพลาชางลั่งถิง’ โดยกวีในสมัยเดียวกันด้วย

องค์ประกอบสำคัญของสวนแห่งนี้ คือ หิน ต้นไผ่ เนินเขา และสวนหย่อม กำแพงด้านตะวันตกของอาคารสถาปัตยกรรมหลักในสวน ตบแต่งด้วยภาพวาดบุคคลชั้นสูงในประวัติศาสตร์ซูโจวกว่า 500 ชิ้น ซึ่งเป็นเสน่ห์ของสวนแห่งนี้


สวนซือจึหลิน หรือสวนป่าสิงโต เด่นด้านภูเขาจำลองและหินรูปสิงโต ที่มาของชื่อสวน

สวนป่าซือจึหลิน มีพื้นที่ 1,152 ตรม. เป็นสวนสมัยศตวรรษที่ 14 ส่วนที่โดดเด่นที่สุดของสวนแห่งนี้คือ ภูเขาหินจำลองที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ และสิ่งปลูกสร้างรอบๆทะเลสาบ รวมถึงน้ำตกและหน้าผาจำลองริมทะเลสาบ ยังมีการสร้างเขาวงกต ที่ประกอบด้วยถ้ำ ทางเดิน และปลูกต้นไซปรัสและสนโบราณ

สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์และที่มาของชื่อสวนแห่งนี้ คือ หินรูปร่างพิสดารที่มีการแกะสลักเป็นรูปสิงโตในท่าทางต่างๆ ที่บางคนมองว่าเป็นท่วงท่าสิงโตเต้นระบำ หรือกำลังกระโจนผาดโผน เป็นต้น สวนป่าซือจึหลินเป็นความภาคภูมิใจของเมืองซูโจว ในฐานะที่จำลองทัศนียภาพของป่าและเขา โดยมีการจัดวางองค์ประกอบต่างๆในพื้นที่จำกัดตามสไตล์ ‘เซน’


แก่นแท้ของ ‘ศิลปะ’ ใน ‘สวน’

สวนในเมืองซูโจว มักเป็นสวนพื้นที่เล็กๆ แต่อาศัยการเล่นเทคนิคที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว และไม่เคร่งครัดในกรอบ ออกแบบโดยยึดหลักความงามแบบคลาสสิคของจีนที่มักแสดงออกมาในรูปของภาพทิวทัศน์ ภูเขา สายน้ำ สัตว์ปีกและดอกไม้ นิยมสร้างเป็นภูเขาจำลอง สวนป่า และจัดวางศาลา หอสูง ขุดสระน้ำ สร้างทางเดินทางแยก และสะพานเล็กๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ยังแฝงไว้ด้วยแง่คิดทางศิลปะจากกวีนิพนธ์ในสมัยถังและซ่ง และสอดแทรกปรัชญาเต๋า พุทธ และแนวคิดของขงจื๊อ ซึ่งสอดคล้องกับคติการดำเนินชีวิตของชาวจีน ด้วยบรรยากาศการตกแต่งและแนวคิดที่แฝงเร้นในสวนทำให้สวนโบราณซูโจว ได้ชื่อว่าเป็นผลงานศิลปะที่รวมไว้ซึ่งคุณค่าหลายแขนง ทั้งในแง่ศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติ

สวนโบราณในเมืองซูโจว เปรียบเสมือน‘ป่าในเมือง’ คือ โลกจำลองของสภาพที่เป็นจริงในธรรมชาติ ดังคำเปรียบเปรยของสวนโบราณในซูโจวที่ว่า ‘น้ำหนึ่งกระบวยแทนสายน้ำ หินหนึ่งกำปั้นแทนขุนเขา’ แม้แต่สภาพอากาศในสวนก็ผันแปรไปตามฤดูกาล ยังความรื่นรมย์ให้แก่ชาวเมือง ราวกับได้ออกท่องป่าชมความงามตามธรรมชาติจริงๆโดยที่ไม่ต้องออกไปแสวงหาความสุขที่ไหนให้ไกลบ้าน

ลักษณะพิเศษของสวนโบราณในซูโจวอีกประการหนึ่ง คือ การจำลองภาพความงามในจินตนาการของกวีและศิลปินภาพวาดพู่กันจีน มาไว้ในหินทุกก้อน น้ำในสระ หรือแม้แต่แมกไม้ที่นำมาปลูกอยู่ในสวน แนวคิดการจัดสวนนี้ได้เริ่มมาพร้อมกับกำเนิดของสวนซูโจว

สืบเนื่องจากพื้นฐานการศึกษาของผู้สร้างสวนในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นผู้รู้ในเรื่องกวีหรือวรรณกรรมและเสพงานศิลปะเป็นชีวิต ตกผลึกเป็นแนวคิดที่ว่า ‘สวน คือ กวีที่ไร้สรรพสำเนียง และคือ ภาพวาดที่มีมิติ’ และเพื่อตอบสนองต่อทัศนคติดังกล่าว นักสร้างสวนจะมีมโนภาพเกี่ยวกับสวนไว้โดยให้ ‘ภาพวาด’ เป็นมูลฐาน และมี ‘บทกวี’ เป็นหัวข้อหลัก และเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งแนวคิดหลักของสวน ในแง่ความต้องการ อุดมคติ ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกนานาประการ สวนจำนวนมากจึงมีแบบฉบับการตกแต่ง เช่น การแขวนป้ายคำขวัญไว้เหนือประตูทางเข้า หรือการแขวนโคลงคู่ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเค้าโครงความคิดหลักของสวนนั้นๆ ซึ่งเป็นลีลาการแสดงออกของผู้พิสมัยด้านโคลงฉันท์กาพย์กลอนในสมัยโบราณ



สวนหลิว สวนสมัยราชวงศ์หมิง โชว์แนวคิดเรื่องภูเขาและน้ำ ภาพขวา-วิหารหนันมู่เตี้ยนในสวนหลิว


อีกด้านหนึ่งก็ให้ความสนใจในการจัดวางต้นไม้ สระน้ำ การสร้างทางเดิน ตลอดจนศาลาริมน้ำและภูเขาจำลองอย่างกลมกลืน งดงามละมุนละไม แม้ว่าสวนส่วนใหญ่ในซูโจวจะมีขนาดเล็ก หากทว่า แพรวพราวไปด้วยเทคนิคเชิงศิลปะ ด้วยการตกแต่งในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่สื่อความหมายลึกซึ้ง อาทิ สวนที่มีแนวคิดยก ‘น้ำ’ ขึ้นเป็นตัวเอก เช่น สวนจัวเจิ้ง จะมีศูนย์กลางซึ่งเป็นพื้นที่น้ำมากถึง 1 ใน 3 ส่วน พันธุ์ไม้ที่ตกแต่งรอบสระเน้นความเขียวชะอุ่มกลมกลืนรับกับสระน้ำกว้าง สิ่งก่อสร้างโดยรอบสูงต่ำลดลั่นชัดเจน อีกฝั่งหนึ่งใช้ลูกเล่นระเบียงวนเป็นคลื่นขึ้นลงแลดูนุ่มนวลสบายตา

เมื่อใดที่ได้เตรดเตร่อยู่ตามทางเดินวกวนในสวน นอกจากจะเพลิดเพลินกับความงามในซอกมุมต่างๆแล้ว ทุกส่วนของการจัดแต่งยังเต็มไปด้วยปริศนาให้ครุ่นคิด ตีความและค้นพบ เฉกเช่น เดินเข้าสู่ภาพวาดในอีกมิติหนึ่ง หรือกำลังดื่มด่ำกับความแหลมคมและยอกย้อนของกวีนิพนธ์ เป็นความหลักแหลมและชั้นเชิงของศิลปินผู้สร้างงานสวน ในการโน้มนำผู้ชมสวนให้เข้าสู่มนต์ขลังของธรรมชาติ

นี่จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ ‘สวนโบราณ’ เอกลักษณ์ของเมืองซูโจว สามารถเข้าถึงความหมายของมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้อย่างแจ่มชัดที่สุด


ข้อมูล
มรดกโลกทางวัฒนธรรม ปีค.ศ.1997
สร้างในปี- สวนที่เก่าแก่ที่สุด สร้างก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 6
ที่ตั้ง- เมืองซูโจว มณฑลเจียงซู
พื้นที่เมืองซูโจว 8,488 ตารางกิโลเมตร



สวนจัวเจิ้ง สวนขนาดใหญ่ที่สุดในซูโจว สภาพที่เห็นในปัจจุบันเป็นรูปแบบการจัดสวนในปลายสมัยราชวงศ์ชิง


เทศกาลสำคัญในเมืองซูโจว

  1. เทศกาลดอกเหมยที่เขาไท่หูซี ก่อนและหลังวันที่ 15 เดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติ
  2. เทศกาลท่องเที่ยวเมืองซูโจว วันที่ 12 มี.ค. – 6 มิ.ย.
  3. เทศกาลอาหารริมน้ำ ‘คิมหันต์ที่ไท่หู’ ปลายเดือนก.ย. – กลางเดือนต.ค.
  4. งานวัดหู่ชิว วันที่ 20 ก.ย. – 31 ต.ค.
  5. งานตีระฆังวัดหานซัน ส่งท้ายปีเก่า วันที่ 30 เดือนสิบสอง ตามปฏิทินจันทรคติ

นอกจากนี้ จากซูโจวยังสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวยังอู๋ซี หยังโจว เซี่ยงไฮ้ หังโจว นานกิงได้

ชมเว็บไซต์สวนคลาสสิคซูโจวได้ที่ : http://www.china.org.cn/english/kuaixun/74964.htm

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์

http://www.manager.co.th/china/ViewNews.aspx?NewsID=2000000036838