กู้กง - นครต้องห้าม ( The Forbidden City )


กู้กง เป็นชื่อของอดีตพระราชวังหลวงของปักกิ่ง เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า The Forbidden City หรือนครต้องห้าม เพราะถึงแม้ว่าเป็นวัง แต่ใหญ่โตกว้างขวางน่าจะเรียกว่าเมืองได้ทีเดียว

กู้กงอยู่ติดกับจตุรัสเทียนอันเหมินทางเหนือ ใครเดินเข้าไปถึงด่านแรกที่เรียกว่าประตูอู่เหมิน อย่าเพิ่งดีใจว่าต่อไปก็ใกล้ถึงตัววังแล้ว และต่อไปเมื่อผ่านเข้าไปจนถึงพระที่นั่งสวยงามโอฬารหลังสองสามสี่ ที่ตั้งห่างไกลกันมาก ก็อย่าเพิ่งดีใจอีกเช่นกัน เพราะยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ถ้าจะเดินดูให้ทั่วต้องใช้เวลาทั้งวัน ถ้าจะดูละเอียดต้องใช้เวลาสักหนึ่งเดือน แต่ถ้ามีเวลาครึ่งวันอย่างดิฉัน - ก็ต้องจ้ำพรวดๆ อย่าได้นั่งพักหรือแวะหยุด แล้วค่อยไปเอาเท้าแช่น้ำอุ่นจัดๆ เมื่อกลับถึงที่พักแล้ว

พระที่นั่งหลังแรก ชื่อ ไท่เหอเตี้ยน (แปลว่าความกลมกลืนสูงสุด) แต่ก่อนจะไปถึง ต้องข้ามแม่น้ำทองคำ (จินสุ่ยเหอ) ซึ่งมีสะพานหินอ่อนทอดข้าม ๕ สะพาน มาถึงลานกว้างใหญ่ขนาด ๓๐๐๐๐ ตารางเมตรเสียก่อน มีทางลาดเหมือนพรมผืนยาว อันเป็นทางเสด็จของฮ่องเต้ยามประทับเกี้ยวมาที่ไท่เหอเตี้ยนในวาระสำคัญ เช่นวันขึ้นครองราชย์ วันปีใหม่ วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันประกาศรายชื่อผู้สอบเป็นบัณฑิตจีน ข้างไท่เหอเตี้ยนมีเต่าโลหะและนกกะเรียนตัวใหญ่มากตั้งประดับ เป็นสัญลักษณ์ของความมีอายุยืนยาว และมีนาฬิกาแดดแบบโบราณด้วย

ผ่านไท่เหอเตี้ยน ก็จะล่วงเข้าด่านสองคือพระที่นั่ง จงเหอเตี้ยน (ความกลมกลืนสมบูรณ์แบบ) เป็นที่แวะพักของฮ่องเต้เวลาเสด็จออกมาจากข้างใน มีบันไดทอดขึ้น ระหว่างบันไดเป็นทางหินอ่อนแกะสลักลายมังกรนูนอย่างวิจิตพิสดาร ที่นี่เป็นที่เสด็จออกรับบรรณาการ ' จิ้มก้อง ' จากแว่นแคว้นอาณาจักรต่างๆ

พระที่นั่งแห่งที่สาม เป่าเหอเตี้ยน (ความกลมกลืนที่ดำรงอยู่) เป็นสถานที่จัดเลี้ยงในวันปีใหม่ ในสมัยฮ่องเต้หย่งเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิง (ราชวงศ์สุดท้ายของจีน) ใช้เป็นที่สอบจิ้นสือหรือนักศึกษาทั้งหลายเพื่อเข้ารับราชการ

พระที่นั่งทั้งสามมีชื่อรวมกลุ่มกันว่า ซานต้าเตี้ยน (แปลว่าพระที่นั่งทั้งสาม) ที่จัดกลุ่มรวมกันไว้ก็เพราะสร้างพร้อมกันใน ค.ศ. ๑๔๒๐ โดยพระบัชญาของฮ่องเต้หย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง (ราชวงศ์ก่อนสุดท้ายของจีน) ฮ่องเต้องค์นี้เป็นผู้สถาปนาปักกิ่งหรือเป่ยจิงขึ้นเป็นเมืองหลวง พระที่นั่งสามองค์ที่ว่านี้เป็นพระราชวังชั้นนอก ทำนองเดียวกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ไพศาลทักษิณ และอมรินทร์วินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ถัดจากนี้เข้าไปก็คือเขตพระราชฐานชั้นใน แบบ "ฝ่ายใน" ของเรา (ที่แม่พลอยเข้าไปอาศัยอยู่นั่นน่ะค่ะ) เริ่มต้นที่ประตู เชียนชิงเหมิน (บริสุทธิ์สรวงสวรรค์) พอพ้นเข้าไปก็เป็นพระที่นั่ง ตำหนักน้อยใหญ่สลับอุทยานอีกหลายแห่ง เป็นที่ประทับของฮ่องเต้ ฮองเฮา นางสนมกำนัลอีกมากมาย ดูคล้ายๆ กับไทยตรงที่มีเพียงผู้ชายคนเดียวคือฮ่องเต้ เจ้านายขุนนางที่เป็นชายไม่มีสิทธิ์จะล่วงล้ำเข้าไป แต่แตกต่างกันตรงที่ไทยเราใช้ผู้หญิงด้วยกันเป็นผู้ควบคุมดูแลผู้หญิงในเขตพระราชฐานชั้นใน อย่างพวกยามที่เฝ้าประตูก็คือโขลนผู้หญิง แต่ในพระราชวังของจีน มีขันทีเป็นผู้ดูแลอีกทีหนึ่ง พวกนี้คือชายที่ถูกตอนทางเพศไปแล้วเพื่อไม่มีโอกาสจะไปก่อความสัมพันธ์กับนางในได้ อยุธยาของเราก็มีเหมือนกันในสมัยพระนารายณ์มหาราช เรียกว่า "นักเทศขันที" เข้าใจว่าสั่งมาจากเปอร์เชียไม่ใช่จีน แต่มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่มีธรรมเนียมเอาขันทีมาไว้ในราชสำนักอีก

ตำหนักใหญ่น้อยในพระราชวังโบราณมีมากมายดูกันไม่ทั่ว ส่วนใหญ่จะปิดเอาไว้ มีร่องรอยทรุดโทรมไปตามเวลา แต่ทางการก็บูรณะไว้อย่างดี ขณะเดินชมก็เห็นความเป็นจริงเรื่องอนิจจังไม่เที่ยง มันเป็นที่เกิดของเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ของแหล่งอารยธรรมใหญ่ของตะวันออก นับเวลาได้ต่อเนื่องหลายศตวรรษ มีความยิ่งใหญ่อลังการตัดกับความยากจนข้นแค้นของประชาชนภายนอก ความหรรษาตรงข้ามกับความหฤโหดแอบแฝงอยู่เบื้องหลังในยามลงโทษ หรือผลัดเปลี่ยนแผ่นดินด้วยการกบฏหรือลอบปลงพระชนม์ เป็นที่รวมของหญิงงามมากที่สุด ทรัพย์สมบัติอเนกอนันต์ที่สุด และความร่าเริงบันเทิงใจราวกับสรวงสรรค์ แต่ก็เจือปนด้วยความทุกข์ทรมานและความตายของบุคคลตั้งแต่สูงสุดจนต่ำต้อยที่สุดในสถานที่นี้เช่นกัน

หมายเหตุ: ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ " ตลุยจีน ท่องถิ่นมังกร " ของรองศาสตราจารย์วุฒิชัย มูลศิลป์

ผู้เขียน: เทาชมพู และ http://www.vcharkarn.com/include/article/showarticle.php?Aid=235