เทศกาลโคมไฟ
เทศกาลโคมไฟ หรือ วันหยวนเซียว คือวันที่ 15 ของเดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ หรือที่เรียกกันว่า ชูสืออู่ นั่นเอง คำว่า หยวน มีความหมายว่า แรก ส่วนเซียว แปลว่า กลางคืน จึงใช้เรียกคืนที่พระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกในรอบปีหลังผ่านพ้นตรุษจีน คล้ายกับเป็นวันตบท้ายเทศกาลตรุษจีนแบบแฮปปี้เอนดิ้ง สำหรับคืนสำคัญนี้ มีประเพณีว่า ชาวจีนจะต้องรับประทานบัวลอยกันในครอบครัวและออกไปชมโคมไฟที่จะนำมาประดับประดากันอย่างสวยงาม ดังนั้น จึงมีการเรียกเทศกาลนี้อีกอย่างว่า เทศกาลโคมไฟ
ประเพณีการชมโคมไฟนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อสองพันกว่าปีก่อนในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก จนมาถึงราชวงศ์ถังประเพณีนี้ยิ่งมีความพิถีพิถันมากขึ้น ภายในพระราชวังหรือตามท้องถนน ทุกหนทุกแห่ง ล้วนมีการแขวนโคมไฟ และยังพัฒนาไปเป็นตึกโคมไฟ ต้นไม้โคมไฟ หรือวงล้อโคมไฟ เป็นต้น
วันหยวนเซียวได้รับการสืบทอดเรื่อยมา จนกระทั่งในราชวงศ์ซ่งที่ยิ่งให้ความสำคัญกับเทศกาลโคมไฟนี้ และกิจกรรมต่างๆ ในเทศกาลดังกล่าวก็ยิ่งคึกคัก รวมทั้งมีการฉลองติดต่อกันถึง 5 วัน นอกจากนี้ รูปแบบของโคมไฟที่ประดับประดาก็ยิ่งหลายหลากมากขึ้นด้วย สำหรับในราชวงศ์หมิง มีการขยายระยะเวลาในฉลองประเพณีโคมไฟนี้ออกไป ยาวนานถึง 10 วัน และเป็นการชมโคมที่ยาวที่สุดของจีน ขณะที่เมื่อมาถึงราชวงศ์ชิง ที่แม้ว่าประเพณีดังกล่าวได้ลดลงเหลือเพียง 3วัน ก็ตาม แต่ความยิ่งใหญ่ตระการตากลับไม่ได้ลดน้อยลงตามไปด้วยเลย
ในวันเทศกาลสำคัญต่างๆ ของชาวจีนนั้น มักจะมีอาหารประจำเทศกาล หรือก็คืออาหารสิริมงคลนั่นเอง ซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเทศกาลโคมไฟนี้ ก็คือ การรับประทานถังหยวน หรือว่า บัวลอย เพียงแต่ว่าบัวลอยที่ว่านี้ไม่มีไข่หวาน ดังที่คุ้นตาและคุ้นปากกัน
บัวลอย หรือว่า ถังหยวน ทำจากแป้งข้าวเจ้า ภายในมีทั้งไส้หวานและไส้เค็ม ปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วนำไปต้มหรือนำไปทอด ในยุคแรกนั้น ชาวจีนเรียกขนมนี้ว่า ฝูหยวนจึ ต่อมาถูกเรียกว่า ถังถวน หรือว่า ถังหยวน โดยคำว่าถวนหรือหยวนนั้น ออกเสียงใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังมีความหมายที่ดีและเป็นสิริมงคลอีกด้วย เนื่องเพราะ ถังหยวนหรือว่าถังถวนนี้ เป็นตัวแทนของคำว่า ถวนถวนหยวนหยวน ซึ่งหมายถึง การอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว นอกจากนี้ ยังหมายถึง หยวนหม่าน ที่แปลว่า สมบูรณ์พูนสุขนั่นเอง