ศิลปะกระดาษตัด ของจีน
"กระดาษตัด" เป็นรูปแบบศิลปะอย่างหนึ่งที่สร้างขึ้นโดยการสลักหรือแกะลายบนกระดาษ
ความเป็นมาของกระดาษตัด
ในประเทศจีนเราพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สะท้อนว่าในยุคหินใหม่มนุษย์มีทัศนะด้านความสวยงาม และเกิดการแสวงหาในศิลปะแกะสลักลวดลายแล้ว และลวดลายบนวัตถุเหล่านี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดศิลปะกระดาษตัดในเวลาต่อมา เช่น ลายขดบนภาชนะดินเผาซึ่งเป็นร่องรอยทางวัฒนธรรมต้าเหวินโซว่ ที่ขุดพบบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำฮวงโห พบลวดลายที่แกะสลักหรือตัดจากวัสดุบางๆ เครื่องประดับแบบสายที่ทำด้วยทองสำริดในสมัยราชวงศ์โจว เครื่องประดับที่แกะสลักบนแผ่นเงินสมัยจ้านกว๋อ และหยกฉลุลายเป็นต้น
การขุดพบทางโบราณคดีปี ค.ศ. ๑๙๖๖ ที่สุสานหลุมที่ ๑ เขาหลิงหวังที่แม่น้ำหูเป่ย พบเครื่องแกะลายในสมัยจ้านกว๋อและบนเครื่องหนังนั้นได้สลักลวดลายรูปทรงกลม สี่เหลี่ยม และสามเหลี่ยมต่อเนื่องกัน เห็นได้ว่าสมัยนั้นแม้ว่ายังไม่มีการใช้วัสดุกระดาษแต่ก็มีการวางรากฐานศิลปะของกระดาษตัดแล้ว
กระดาษตัดที่ใช้กระดาษตัดจริงๆ นั้น ขุดพบในสมัยเป่ยฉาว ซึ่งอยู่ในสุสานเก่าบริเวณอาซือท่านา เมืองถูหลู่ฟาน ในซินเกียงมีกระดาษตัด ๕ ชุด มีภาพลายดอกไม้แปดเหลี่ยม ลายพุ่มดอกจินอิ๋น ลายพุ่มดอกเบญจมาศ ๓ ภาพสลับชั้น รูปแบบซับซ้อนแต่ก็เป็นระเบียบ อีกสองภาพเป็นภาพขดลักษณะต่างๆ และมีการนำเอาภาพม้าคู่และลิงคู่รวมเข้าด้วยกันจึงทำให้ภาพสวยงามและแปลกใหม่
กระดาษตัดของจีนเมื่อพัฒนาถึงสมัยราชวงศ์ซ่งก็ได้ความนิยมแพร่หลายในหมู่ชาวบ้าน จากบันทึกจื้อหย่าถังจาเชาของโจวมี่เห็นได้ว่า การใช้กระดาษตัดในวิถีชีวิตชาวบ้านในสมัยนั้นแพร่หลายมาก มีการนำกระดาษตัดมาตกแต่งของขวัญบ้าง ประดับหน้าต่าง ในด้านความเชื่อก็มีการนำภาพเสือและมังกรมาติดธงเพื่อขจัดสิ่งเลวร้าย นอกจากนี้มีการนำกระดาษมาใช้เป็นศิลปะตกแต่ง เช่น โคมไฟ (โดยเฉพาะโคมอาชาทะยาน) ซึ่งทุกปีในเทศกาลเอวี๋ยนเซียวหรือเทศกาลโคมไฟจะครึกครื้นมาก ด้วยเหตุที่อาศัยรูปแบบต่างๆ ของกระดาษตัดมาตกแต่งโคมไฟ กระดาษตัดจึงเป็นที่นิยมแพร่หลาย
สมัยราชวงศ์หมิง ศิลปะกระดาษตัดได้พัฒนาก้าวไกล ปี ค.ศ. ๑๙๖๕ ที่เจียงซูมีการขุดพบพัดพับในสมัยหมิง หน้าพัดใช้กระดาษสีเขียวสองชั้นผนึกภาพกระดาษตัดรูปดอกเหมย และนกสาริกาทองต้อนรับฤดูใบไม้ผลิอยู่ภายใน สวยงามและโดดเด่นมาก ตามหลักฐานบันทึก กล่าวว่ากระดาษตัดของฝอซานมีชื่อเสียงมากและส่งไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สมัยราชวงศ์ชิง กระดาษตัดได้แพร่หลายและเผยแพร่เข้าสู่ราชสำนัก ตำหนักเซินหนิงที่กรุงปักกิ่งเป็นที่ซึ่งจักรพรรดิทรงใช้ในพิธีอภิเษกสมรสนั้น ภายในยังคงรักษาศิลปะแบบแมนจู กำแพงผนึกด้วยกระดาษ สี่มุมห้องมีอักษรตัวสี่ (สิริมงคล) ติดอยู่ กลางเพดานมีภาพกระดาษตัดลายมังกรกับหงส์สีดำติดอยู่ กำแพงระเบียงทางเดินสองฟากของตำหนักก็มีลายดอกไม้ประดับประดาอยู่ด้วย
สมัยหมิงและชิงมีการบันทึกถึงผู้มีฝีมือในการตัดกระดาษอยู่ไม่น้อย ขณะเดียวกันก็มีนักเขียนอักษรจีน และจิตรกรจีนได้หันมาสร้างรูปแบบของกระดาษตัดด้วย สมัยชิงกระดาษตัดรูปลายอักษร โดยเป็นการรวมกระดาษตัดกับอักษรจีนเข้าด้วยกันเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างมาก
หลังสถาปนาประเทศจีนเป็นต้นมา ศิลปะการตัดกระดาษได้รับความนิยมอย่างมาก ความประณีตของงาน รูปแบบและเรื่องราวที่แฝงในภาพกระดาษตัดนั้นได้รับการพัฒนา และกลายเป็นศิลปะสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของการแสวงหาความงามด้านจิตใจของคนในปัจจุบัน ดังนั้นผลงานด้านศิลปะกระดาษตัดจึงรุ่งเรืองเป็นประวัติการณ์ และกระดาษตัดของจีนจึงมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วโลก
รูปแบบของงานศิลปะกระดาษตัดจากต่างท้องถิ่น
จากเทคนิควิธีการทำดังกล่าวกระดาษตัดจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "กระดาษแกะ" หรือ "กระดาษตัดลาย" หรือ "ลายประดับหน้าต่าง" ศิลปะการตัดกระดาษแบ่งเป็น ๒ ชนิดใหญ่ๆ คือ กระดาษตัดสีเดียว ส่วนมากมักให้กระดาษสีแดงเป็นหลัก อีกชนิดหนึ่งคือกระดาษตัดย้อมสี คือใช้สีหลากสีแต่งเติมขึ้นให้เกิดสีสันสวยงาม
ศิลปะกระดาษตัดของจีนมีรูปแบบสีสันหลากหลาย กระดาษตัดทางภาคเหนือมีลักษณะเด่นคือ หยาบ เรียบง่ายแต่ชัดเจน ได้แก่ ภาพกระดาษตัดของอำเภอเว่ย มณฑลเหอเป่ย ภาพกระดาษตัดอำเภอเชียนหยาง มณฑลส่านซี กระดาษตัดของอำเภอจิ้งเล่อ มณฑลซานซี และอำเภอเผิงหลาย มณฑลซานตุง ส่วนกระดาษตัดของทางใต้จะเน้นด้านความสวยงามและความละเอียดลออและด้านความหมาย ได้แก่ ภาพกระดาษตัดของฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง กระดาษตัดของอำเภอพี มณฑลเจียงซู กระดาษตัดของจ้างโจว มณฑลฮกเกี้ยน และกระดาษตัดที่มีประวัติอันยาวนานของอำเภออวี้ มณฑลเหอเป่ย
ในบรรดาศิลปะกระดาษตัดนั้น ที่โดดเด่นคือ กระดาษตัดของมณฑลสานเป่ย ซึ่งได้รับความชื่นชอบจากผู้คนเป็นจำนวนมาก กระดาษตัดของสานเป่ยส่วนมากเป็นฝีมือของหญิงชาวบ้าน มีลักษณะเด่นคือ หยาบแต่เรียบง่ายชัดเจน
เนื่องจากมณฑลสานเป่ยเคยเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองของจีน เป็นร่องรอยของวัฒนธรรมหย่างซ่าว หลงซาน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น เว่ย เป็นต้นมา ก็มีศิลปะอันทรงคุณค่าคือ ภาพสลักหิน ถ้ำหินแกะสลัก และเนื่องจากที่นี่มีการสืบทอดวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้คนเหล่านี้รักษาวัฒนธรรมที่โดดเด่นไว้เช่นเดียวกับกระดาษตัดที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
เรื่องราวในกระดาษตัด
เนื้อหาของกระดาษตัดมีมากมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น แต่เนื่องจากสภาพสังคมจีนยังเป็นสังคมเกษตรกรรม โดยภาพรวมของเนื้อหาเรื่องราวในกระดาษตัดจึงมีทั้งที่เกี่ยวกับการเกษตรเช่นภาพพืชผักผลไม้ ไม้ดอก สัตว์ แมลง การเลี้ยงสัตว์ วิถีชีวิตชาวบ้านเช่นการทอ การเก็บเกี่ยว และเกี่ยวข้องกับงานศพ งานมงคล ละคร นิยายปรัมปรา และนิทานพื้นบ้าน รวมไปถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ประจำเผ่าพันธุ์ การกราบไหว้บูชาและการมีลูกหลานสืบสกุล เป็นต้น
ภาพกระดาษตัดเหล่านี้บ่งบอกถึงความมุ่งมาตรปรารถนา ความหวัง ความรู้สึกนึกคิด และความเข้าใจชีวทัศน์ที่แท้จริงของชาวจีน
กระดาษตัดจึงเป็นศิลปะที่มีคุณค่าและมีการพัฒนาจนกลายเป็นศิลปกรรมที่ได้แพร่หลายไปทั่วโลก นับว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของชาวจีน และน่ายกย่องอย่างยิ่งที่ได้อนุรักษ์ศิลปะอย่างนี้สืบต่อกันมาและถือว่าเป็นมรดกสิ่งหนึ่งของโลก เพราะนอกจากจะเป็นงานศิลปะอันหมายถึงอารมณ์สุนทรีย์แล้ว ยังหมายถึงความมีสมาธิจดจ่อต่องานตรงหน้า
สิ่งที่มีค่าแก่ผู้คนสนใจเรื่องของวัฒนธรรมก็คือ เนื้อหา สาระและเรื่องราวที่ปรากฏในงานแต่ละชิ้น เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนมาจากมือช่างอย่างซื่อสัตย์ ชัดเจน เปรียบได้กับการชมเทปบันทึกภาพประวัติศาสตร์ทีเดียว
ดร.นริศ วศินานนท์
มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
ศิลปวัฒนธรรม
ฉบับที่ 268
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545