หอฟ้าเทียนถาน (Temple of heaven)


หอฟ้าเทียนถานเป็นสถานบวงสรวงเทพยดาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งซึ่งยังคงรักษาไว้ในจีน ประกอบด้วยตําหนักฉีเหนียนเตี้ยน ตําหนักหวงฉงอี่ และลานหยวนชิว เป็นต้น

เทียนถานตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงปักกิ่ง มีเนื้อที่ทั้งหมด ๒๗๓ เฮกต้าร์ เป็นสถานซึ่งจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิงใช้เป็นที่บวงสรวงเทพยดา ในระยะย่างเข้าฤดูหนาวถึงเดือนอ้ายตามจันทรคติทุกปี พระจักรพรรดิจะเสด็จไปประกอบพระราชพิธีบวงสรวงที่นั่นเพื่อให้การเก็บเกี่ยวได้ผลอุดม

ตําหนักฉีเหนียนเตี้ยนเป็นตําหนักเอก เริ่มก่อสร้างเมื่อ ค.ศ. ๑๔๒๐ ห่างจากปัจจุบัน ๕๐๐ กว่าปี เป็นรูปทรงกลมหลังคา ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีนํ้าเงิน ไม่มีขื่อและอกไก่ อาศัยเสาไม้ ๒๔ ต้น เป็นโครงยึดไว้ซึ่งได้ชื่อว่า "ตําหนักไม่มีขื่อ" ภายในตําหนักมีภาพวาดสีประณีตงดงาม บนเพดานวาดเป็นรูปมังกรและหงส์

ลานหยวนชิวซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ของตําหนักฉีเหนียนเตี้ยนเป็นแบบคล้ายเวทีกลม ๓ ชั้น สร้างด้วยหินอ่อนสีนํ้าเงินและสีขาว แต่ละชั้นล้อมรอบด้วยลูกกรงหินอ่อนสีขาว เป็นสถานซึ่งพระจักรพรรดิบวงสรวงเทพยดาหรือขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล

ตําหนักหวงฉงอี่สร้างเป็นรูปทรงกลมหลังคาชั้นเดียว มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีนํ้าเงินแก่ เป็นสถานสําหรับเก็บรักษาแผ่นป้ายพระนาม"เทพเจ้าผู้ปกครองสวรรค์" ตําหนักนี้ล้อมรอบด้วยกําแพงเตี้ย ๆ กําแพงนี้สร้างถูกต้องตามหลักวิชาว่าด้วยเสียง จึงสะท้อนเสียงได้จนเป็นที่เลื่องลือ เมื่อสองคนยืนอยู่ที่กําแพงคนละฟาก คนหนึ่งพูดใส่กําแพงเบา ๆ อีกคนหนึ่งเอาหูแนบกับกําแพง ก็จะได้ยินเสียงพูดจากฝ่ายตรงกันข้าม


สุสาน 13 กษัตริย์ หรือวังใต้ดิน ( สือซานหลิง )


สุสานสือซานหลิงหรือ ๑๓ สุสานของราชวงศ์หมิงตั้งอยู่ทางชานเมืองด้านตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง ห่างจากตัวเมือง ๕๐ กว่ากิโลเมตร เป็นสถานที่บรรจุพระศพของพระจักรพรรดิราชวงศ์หมิง ๑๓ องค์ ในบรรดา ๑๓ สุสานนี้ สุสานแห่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและน่าสนใจที่สุดคือสุสาน "ฉางหลิง"ที่มีสิ่งก่อสร้างอันใหญ่โตมหึมาบนผิวดินกับสุสาน "ติ้งหลิง"หรือ "วังใต้ดิน"ที่ได้ขุดพบ

สุสานฉางหลิงเป็นสุสานของจักรพรรดิ "จูตี้" ซึ่งครองราชสมบัติระหว่าง ค.ศ. ๑๔๐๒ - ๑๔๒๔ ในสมัยราชวงศ์หมิง สิ่งก่อสร้างสําคัญในบริเวณสุสานนี้มีพระโรงหลิงเอินซึ่งใหญ่โตเท่ากับพระที่นั่งไท่เหอในพระราชวังโบราณ แต่ที่เด่นกว่าพระที่นั่งไท่เหอก็คือ เสา ขื่อ อกไก่ ระแนง ตลอดจนชายคาของพระที่นั่งล้วนสร้างด้วยไม้ที่มีชื่อว่า "หนานมู่" ซึ่งมีเนื้อไม้ที่แข็งละเอียดและมีกลิ่นหอม เสาขนาดใหญ่ ๓๒ ต้นในพระโรงหลิงเอินใช้ไม้หนานมู่ทั้งนั้น

สุสานติ้งหลิงซึ่งได้ขุดแล้วและเรียกกันว่า "วังใต้ดิน" นั้นประกอบด้วยห้องสูงใหญ่ ๕ ห้อง สร้างด้วยหินทั้งหมด ไม่มีเสา ใช้หินสี่เหลี่ยมแผ่นใหญ่ก่อกันเข้าเป็นรูปโค้ง เป็นที่เก็บพระศพของพระเจ้า "จู้อี้จุน" ซึ่งครองราชสมบัติระหว่าง ค.ศ. ๑๕๗๓ - ๑๖๒๐ กับมเหสีสององค์ในสมัยราชวงศ์หมิง


อูเจิ้น มณฑลเจ้อเจียง


"อูเจิ้น" เป็นท้องถิ่นเก่าแก่ อุดมไปด้วยโบราณสถานและโบราณวัตถุ ตำบลอูเจิ้นตั้งอยู่ในเมือง "ถงเซียง" มณฑลเจ้อเจียงทางภาคตะวันออกของจีน อยู่ริมคลองขุด "ต้ายุ่นเหอ" ซึ่งเป็นคลองขุดที่ยาวที่สุดของโลก ห่างจากนครเซี่ยงไฮ้เพียง ๑๐๐ กิโลเมตร และห่างจากเมืองหางโจวเมืองท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อเพียง ๖๐ กิโลเมตร ตำบลอูเจิ้ง มีประวัติอารยธรรมที่ยาวนานถึง ๗๐๐๐ ปี และมีประวัติในการสร้างตำบลที่นานกว่า ๑๓๐๐ ปี

เป็นตำบลที่มีวัฒนธรรมอันเก่าแก่และอุดมสมบูรณ์ ภายในตำบลอูเจิ้นมีแม่น้ำลำธารไหลผ่านสลับกันไปมา มีบ้านเรือนของชาวบ้านมากมาย ที่สร้างขึ้นตามริมแม่น้ำ นักท่องเที่ยวมักจะได้เห็นสะพานเล็ก น้ำที่ไหลเอื่อยๆ อยู่ตามแม่น้ำลำธาร และบ้านเรือนของชาวบ้านที่มีรูปทรงอันสวยงามเป็นธรรมชาติและมีเอกลักษณ์เฉพาะตน นับเป็นทัศนียภาพที่มีความงามพิเศษที่เป็นแบบฉบับของหมู่บ้านตำบลริมแม่น้ำทางภาคใต้ของจีน และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ตำบลอูเจิ้นเปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

ในสมัยโบราณของจีนนั้น มาตรฐานสำคัญในการวัดระดับการศึกษาก็คือ การสอบขุนนางระดับที่เรียกกันว่า "เคอจี้" ซึ่งมีการสอบแบ่งสาขาชิงตำแหน่งขุนนางทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ เริ่มมีแต่สมัยราชวงศ์สุยถานจนกระทั่งราชวงศ์ชิง ผลสำเร็จในการสอบขุนนางระดับเคอจี้ของตำบลอูเจิ้นนั้นน่าทึ่งมาก กล่าวคือ ตามการบันทึกทางประวัติศาสตร์ในช่วงหลายร้อยปี ตั้งแต่ราชวงศ์ซ้องจนถึงราชวงศ์ชิงของจีน ชาวตำบลอูเจิ้นที่สอบได้ตำแหน่งบัณฑิตระดับต่างๆมีมากถึงกว่า ๒๐๐ คน จากสภาพตำบลเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียงไม่กี่หมื่นคนอย่างอูเจิ้น แต่กลับมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและน่าภูมิใจเช่นนี้นั้นนับว่าหาได้น้อยนักในสมัยโบราณของจีน ในศตวรรษที่ ๒๐ ตำบลแห่งนี้ก็ได้เกิดบุคคลที่ขึ้นชื่ออีกหลายต่อหลายคน รวมทั้ง เหมา ตุ้น ปรมาจารย์วรรณคดียุคปัจจุบันที่ขึ้นชื่อของจีน หยวน ตั๋วเฮ่อ - หนึ่งในบรรณาธิการที่ทรงอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติการรายงานข่าวยุคปัจจุบัน และ ซุนมู่ซิน - จิตรกรที่มีชื่อเสียงของจีน เป็นต้น